วันอังคาร, กรกฎาคม 03, 2550

สัมภาษณ์ ”ต้นน้ำ”

สัมภาษณ์ ”ต้นน้ำ”
นอกจากจะเป็นเจ้าของ ”Dream Room” มุมอบอุ่นที่ความฝันของพี่กับน้องได้คุยกัน เกี่ยวกับเรื่องของบทกลอนในนิตยสารวัยรุ่นชื่อดังอย่างไอไลค์แล้ว พี่ต้นน้ำยังมีนิยายขายดีออกมาสู่สายตาของนักอ่านอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เปิดทริคมาคลิกรัก รักสุดเซอร์กับเธอคนที่หัวใจยอม แกล้งรักเธอดันเจอรักจริง เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนักเขียนคนขยันที่ hot hit แบบสุดๆ วันนี้นานะจึงขออาสาพาแฟนคลับไปทำความรู้จักกับเธอกันค่ะ...

พี่ต้นน้ำเป็นคนที่รักการอ่านการเขียนมาตั้งแต่เด็กเลยรึเปล่าคะ? ช่วยเล่าประวัติให้ฟังหน่อยสิ
ใช่ค่ะ รักการอ่านและการเขียนมาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าถามว่ารักสิ่งไหนก่อน รักการอ่านก่อนค่ะ ก็คงเหมือนกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ มั้งคะที่ชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น พอโตขึ้นมาหน่อย ก็อ่านหนังสือกลอน อ่านนิตยสารวัยรุ่น เดอะบอย เธอกับฉัน วัยหวาน ประมาณนี้น่ะค่ะ และก็คิดมาเสมอเลยว่าเป็นความโชคดีที่เราโตมาในช่วงที่หนังสือกลอนรุ่งเรืองมาก คือตามแผงหนังสือวัยรุ่นช่วงนั้น หนังสือกลอนนี่มาเป็นอันดับหนึ่ง แล้วพออ่านมากๆ เข้า ก็เกิดความรู้สึกอยากเขียนบ้างแล้ว เขียนบันทึก เขียนกลอนให้เพื่อน แต่ยังไม่ได้คิดว่าฉันจะเป็นนักเขียน คือตอนแรกคิดแค่ว่าขอให้ได้เขียน แต่ปรากฏว่าฟีดแบ็กที่ได้รับกลับมาจากเพื่อนๆ มันดีมาก เพื่อนในกลุ่มอ่านแล้วชอบ เริ่มมีคนขอให้เขียนแบบนั้นแบบนี้ให้ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ก็เริ่มเขียนกลอนส่งไปลงตามคอลัมน์ในหน้านิตยสาร ที่ส่งเป็นประจำก็คือ คอลัมน์ระเบียงฝัน (ที่เมื่อก่อนมีอยู่ในนิตยสารเดอะบอย) ที่พี่ชายชามาดา เป็นคนดูแลอยู่

แล้วที่มาที่ไปของนามปากกา “ต้นน้ำ” ล่ะคะ?
สั้นๆ ง่ายๆ เลยนะคะ คือบ้านที่อยู่ตอนเด็กๆ อยู่ติดน้ำตกค่ะ ในช่วงที่คิดจะตั้งนามปากกาเป็นเรื่องเป็นราว ก็ตั้งไว้เป็นตัวเลือกหลายชื่อมาก แต่ในที่สุดก็เลือก “ต้นน้ำ” เพราะมันเกี่ยวข้องกับความเป็นตัวเราดี จากนั้นก็ใช้ชื่อนี้มาเรื่อยๆ แต่ก็จะมีงานประเภทที่เขียนแบบผู้ใหญ่ๆ หน่อย ก็จะใช้ชื่อจริง “นนทยา” เป็นนามปากกาค่ะ

ตอนนี้เรียกได้ว่ายึดการเขียนหนังสือเป็นอาชีพแล้วใช่มั้ยคะ?
ใช่ค่ะ ยึดเป็นอาชีพ (ยิ้มอย่างภูมิใจ) ไม่ใช่ทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้วนะคะ แต่ถึงจะมีอะไรอย่างอื่นให้ทำ ก็ยังจะเลือกเขียนหนังสือเป็นอาชีพอยู่ดี

ระหว่างเขียนกลอนกับเขียนนิยาย พี่ต้นน้ำคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองชอบมากกว่ากัน
ถ้าเทียบค่าตอบแทนกัน เขียนนิยายได้เงินมากกว่า แต่เราก็ชอบที่จะเขียนกลอนกับนิยายอย่างเท่าๆ กัน คือเราโตมากับการเขียนกลอน ซึ่งแม้หลายๆ คนจะมองว่ามันเป็นกลอนรักหวานแหวว หรือที่เรียกกันเฉพาะกลุ่มว่า “กลอนฟันผุ” แต่เราว่าการที่เราเขียนกลอนเป็นนี่เอง ที่ทำให้เราได้ฝึกการคิด ได้หัดสังเกตความรู้สึก ทำให้เราคุ้นเคยกับการมองเห็นในสิ่งเล็กๆ สำคัญที่สุดคือการเขียนกลอนมันทำให้เราได้ในเรื่องของภาษาสวยๆ ได้รู้จักการใช้คำสัมผัสที่มีจังหวะเพราะๆ ดังนั้นในนิยายทุกเรื่องที่เป็นงานของเรา จึงมักจะมีจังหวะที่คล้ายๆ การเขียนกลอน ไม่ใช่การพยายามจะใส่วรรคหวานๆ เข้าไปนะคะ แต่มันฝังอยู่ในเส้นเลือดไปแล้ว คือถ้าจะให้เขียนนิยาย โดยไม่มีประโยคเพ้อฝัน เราคงขาดใจตายแน่ๆ

นอกจากงานเขียนกลอนกับนิยายแล้ว ยังมีงานเขียนประเภทไหนอีกรึเปล่าที่อยากจะเขียน? ตั้งใจจะเขียนบทความน่ะค่ะ แนวงานอ่านง่ายๆ สบายๆ มองโลกในแง่บวก แล้วก็แทรกความคิด (มาก) ของตัวเองเอาไว้นิดหน่อย

แล้วได้เริ่มลงมือไปบ้างรึยังคะ?
ก็เริ่มๆ ทำไปบ้างแล้วล่ะ

มีต้นแบบในการทำงานบ้างมั้ยคะ?
เราเป็นประเภท ‘ครูพักลักจำ’ มาโดยตลอดนะ ด้วยความที่ไม่ได้เรียนนิเทศฯ ไม่ได้เรียนอักษรฯ ฉะนั้นถ้าพูดถึงวิชาเขียนหนังสือ เราแทบไม่มีอะไรติดตัวเลย นอกจากความมุ่งมั่นและก็ความฝัน ดังนั้นพอเราใกล้ใคร เราจะฝักใฝ่หาความรู้มาก ถ้าสงสัยก็จะถาม ทุกคนที่มีโอกาสได้เคยทำงานด้วย เราจึงถือว่าทุกคนเป็นครู โดยเฉพาะกับพี่ๆ ที่เป็นบรรณาธิการให้กับเรา ขอตอบแบบเรียงลำดับตั้งแต่ บก. คนแรกที่เคยทำงานด้วยกันเลยนะคะ ก็มี พี่จี๊ด-เงาตะวัน, พี่ชายชามาดา, บก.แจมจัง, พี่เบอร์รี่, พี่บั๋ง, พี่ต้องตา เราว่าทุกๆ คนมีความจริงจังมุ่งมั่นในการทำงาน พวกเขาไม่ได้มองว่าการทำงานหนังสือเป็นงานอดิเรก แต่มองว่ามันเป็นชีวิต

มีนักเขียนในดวงใจอยู่บ้างรึเปล่า?
ส่วนนักเขียนในดวงใจ อืม...จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามวัยมากกว่า แล้วแต่ว่าวัยนั้นกำลังบ้าอ่านงานประเภทไหน ของนักเขียนคนไหนอยู่ แต่ถ้าถามถึงนักเขียนนิยายที่เราไม่เคยพลาดที่จะอ่านงานของเขาเลย ก็คือ นิโคลัส สปาร์ก ไม่ว่าจะเป็น the notebook, a walk to remember, message in the bottle ฯลฯ ตัวหนังสือของผู้ชายคนนี้ ทำให้หัวใจเราหวั่นไหวได้เสมอ เราอ่าน the notebook (ปาฏิหาริย์บันทึกรัก) สองรอบในปีเดียวกัน ต้นปีกับปลายปี เชื่อไหมว่าเราร้องไห้ในครั้งที่สองมากกว่าครั้งแรก ส่วน message in the bottle นั้น เราอ่านจบบนรถทัวร์ ความรู้สึก ณ นาทีที่อ่านจบก็คือ เราต้องโทรหาใครสักคนแล้วนะ โทรไปเล่าเรื่องดีๆ เศร้าๆ แบบนี้ให้เขาฟัง เหมือนกับต้องแบ่งปันในเรื่องที่อ่านน่ะค่ะ ไม่งั้นจะอยู่ไม่ได้

นับจากวันแรกที่เริ่มต้นเขียนหนังสือนับถึงตอนนี้มีผลงานอะไรมาบ้างแล้ว
หลายเล่มอยู่นะคะ ทั้งหนังสือกลอน ทั้งนิยาย รวมๆ กันแล้วก็น่าจะถึงสิบเล่ม แต่หนังสือกลอนเล่มเก่าๆ นี่คงไม่มีวางตามแผงทั่วไปแล้ว จะมีก็แต่นิยายน่ะค่ะ เปิดทริคมาคลิกรัก, แกล้งรักเธอดันเจอรักจริง ที่กำลังจะออกวางแผงเร็วๆ นี้ ก็คือ “รักสุดเซอร์ กับเธอคนที่หัวใจยอม” ทั้งสามเล่มนี้ พิมพ์กับสำนักพิมพ์เลิฟเบอร์รี่บุ๊ค ส่วนหนังสือกลอนเล่มใหม่ ยังไม่รู้ชื่อค่ะ แต่จะออกภายในปีนี้แน่ๆ กับสำนักพิมพ์ริมทะเล (เครืออักขระบันเทิง) เป็นบทกลอนความรักอุ่นๆ หวานๆ ทั้งหมด และกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของบทกลอนเล่มนี้ ก็ยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน หมายความว่า! เป็นกลอนที่เขียนขึ้นใหม่ทั้งหมดค่ะ ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหม ที่อายุขนาดนี้แล้ว (ยังไม่แก่น่า) จะมีแรงเขียนกลอนรักเป็นเล่มๆ ได้อยู่อีก


ยังจำความรู้สึกช่วงแรกๆ ที่เห็นหนังสือที่ตัวเองเขียนได้รึเปล่า? เป็นยังไงบ้าง
มือสั่น ใจสั่น มากกว่าดีใจ มากกว่ามีความสุข กับเด็กคนหนึ่งที่มีความฝัน จากนั้นก็ลงมือทำมันอย่างไม่รู้จักคำว่าเหนื่อย คำว่าท้อ แล้วพอวันหนึ่งความฝันนั้นก็เป็นจริง ไม่รู้จะอธิบายยังไงน่ะค่ะ แต่บอกได้เลยว่ามันมีความหมายกับชีวิตมาก และความรู้สึกตอนที่ได้จับหนังสือเล่มแรกของตัวเอง ก็ไม่เคยหายไปเลย กับประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” นี่มันไม่ใช่ประโยคหลอกเด็กนะคะ เป็นประโยคที่จริงมาก จริงที่สุด

มีหนังสือเล่มไหนที่ประทับใจแบบสุดๆ รักแบบสุดๆ บ้างรึเปล่าคะ?
ไม่กล้าบอกว่ารักกลอนบทนั้นมากกว่าบทนี้ หรือประทับใจ ‘เปิดทริคมาคลิกรัก’ มากกว่า ‘แกล้งรักเธอ ดันเจอรักจริง’ เพราะเดี๋ยวเรื่องที่โดนรักน้อยกว่า มันจะน้อยใจ (ยิ้มกว้าง)
กลอนทุกๆ บททั้งที่เขียนรวมเล่ม และเขียนลงในคอลัมน์ดรีมรูม รวมถึงนิยายทุกๆ เล่ม เราทำด้วยความรัก ความใส่ใจตั้งใจอย่างมากเท่าๆ กันทั้งหมด ก่อนที่ส่งต้นฉบับในแต่ละครั้ง จะทวนแล้วทวนอีก จะไม่เผา ไม่วาง ‘ค่าต้นฉบับ’ เป็นเป้าหมาย ไม่ใช่ไม่ต้องการเงินจากการทำงานนะคะ ต้องการค่ะ แต่ที่เราย้ำกับตัวเอง คือเราจะไม่ตั้งเงินไว้เป็นเส้นชัย แล้วก็ทำทุกอย่างเพื่อจะได้เงินมา เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น มันก็จะหมายความว่าเราจะเขียนๆ อะไรออกไปก็ได้ ขอแค่ได้เงินมาก็พอ
ช่วงหนึ่งสั้นๆ ที่เราเคยได้เป็นคนดูแลต้นฉบับให้กับน้องๆ นักเขียนหน้าใหม่ เราเจอคำถามที่ว่า “พี่คะ หนูจะได้ค่าต้นฉบับเท่าไหร่คะ”, “พอหนังสือออก จะได้เงินเลยหรือเปล่าคะ รอนานไหมคะ” ทำนองนี้ค่อนข้างบ่อย เราไม่ได้บอกว่านี่คือสิ่งที่นักเขียนไม่ควรรู้ ไม่ควรถาม นักเขียนควรรู้ และควรถามค่ะ แต่ว่าน่าจะเป็นหลังจากที่ทำงานเก่งแล้ว มีหนังสือที่พร้อมจะออกแล้ว คือเราอยากให้น้องๆ ที่คิดจะเขียนหนังสือเป็นอาชีพ รู้จักให้ความสำคัญกับการทำงานก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจหรือพยายามต่อรองเรียกร้องเรื่องเงิน
เราเชื่อของเราอย่างนี้นะ ถ้างานดี...แล้วเดี๋ยวเงินมันจะมาเอง ถ้าเราทำงานมีคุณภาพ งานของเราก็จะไม่ใช่แค่แฟชั่น ที่พัดผ่านเข้ามาในวงการ ออกหนังสือสองสามเล่ม แล้วก็เงียบหายไป

พี่ต้นน้ำได้รับแรงบันดาลใจมากจากไหนตั้งเยอะแยะคะ? ในการเขียนงานแต่ละชิ้น
แรงบันดาลใจมีอยู่รอบๆ ตัวค่ะ จากท้องฟ้า จากผู้คนที่เดินสวนกัน จากหนังสือดีๆ จากหนังดีๆ จากเพลงเพราะๆ รวมไปถึงจากจดหมายของน้องๆ ที่เป็นแฟนคลับคอลัมน์ แต่ที่มีอิทธิพลมากที่สุด ก็คือแรงบันดาลใจจากความรัก จากคนรัก (ยิ้ม)

คิดว่าตัวเองเป็นคนโรแมนติกมั้ยคะ? เพราะเห็นงานส่วนใหญ่ของต้นน้ำจะเกี่ยวข้องกับความรัก
ต้องถามก่อนค่ะว่า “ความโรแมนติก” ในที่นี้หมายถึงอะไร ถ้าหมายถึงการชอบทำอะไรเพื่อให้คนที่เรารักรู้สึกดีๆ ละก็ ใช่ค่ะ เป็นคนโรแมนติกมากๆ ช่างจดช่างจำในวันสำคัญต่างๆ แล้วก็สรรหาของขวัญมาให้เขาประทับใจ แต่ถ้าหมายถึงการพูดคะขา เอาอกเอาใจสารพัด และวันๆ ก็เฝ้าพูดถึงแต่เรื่องรักละก็ ไม่เลย ไม่ได้เป็นคนแบบนั้นเลยจริงๆ

กำลังจะมีผลงานอะไรให้แฟนคลับได้ติดตามกันบ้างคะ?
ยังมีคอลัมน์ Dreamroom ในนิตยสารไอไลค์ (หน้า 103-105) ให้ได้อ่านกันอยู่ทุกฉบับนะคะ และเร็วๆ นี้ จะมีนิยายเรื่อง ‘รักสุดเซอร์ กับเธอที่หัวใจยอม’ ออกมาเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค ส่วนนิยายเล่มใหม่แกะกล่อง เขียนไปได้แปดสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว อดใจรอนิดนึง นอกจากนี้ยังจะมีหนังสือกลอนกับสำนักพิมพ์ริมทะเล เล่มที่บอกว่ายังไม่ได้สรุปชื่อหนังสือน่ะค่ะ ยังไงก็ฝากให้ช่วยติดตามชื่อของ “ต้นน้ำ” ด้วยนะคะ ชอบไม่ชอบยังไง ก็เขียนมาบอกกันได้

อยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเขียนหนังสือแบบพี่ต้นน้ำบ้าง แต่ว่ายังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดีน่ะค่ะ
พื้นฐานการเขียน เราว่ามันอยู่ที่การอ่าน อาจจะไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบางคนอาจบอกว่า “ฉันไม่เห็นต้องอ่านหนังสือเยอะเลย ก็สามารถเขียนหนังสือออกมาเป็นเล่มๆ ได้แล้ว” แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เหมือนกับเราเขียนหนังสือเพื่ออยากให้คนอื่นซื้อของเราไปอ่าน ในขณะที่เราไม่ได้อ่านหนังสือของคนอื่นเลย เป็นนักวิ่ง แต่ไม่ขยันซ้อมวิ่ง มันก็ยังไงๆ อยู่ใช่ไหมคะ
ฉะนั้นถ้าอยากจะเป็นนักเขียน ก็ต้องขยันอ่านให้มากๆ ก่อน ไม่ใช่อ่านเพื่อเอามาลอกนะ แต่อ่านเพื่อให้ได้รู้จักการใช้คำ การเรียงประโยค การวางชั้นเชิงเนื้อเรื่อง แล้วเมื่อลงมือเขียนจริงๆ แค่ความตั้งใจอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมุ่งมั่นด้วย บางครั้งอาจเกิดปัญหาระหว่างการเขียน เช่น คิดไม่ออก ดำเนินเรื่องต่อไม่ได้ ก็ต้องพยายามให้มากขึ้นไปอีก “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ไงคะ และถึงแม้ว่าวันหนึ่งเราจะไม่ได้ทำอาชีพนักเขียน แต่ “การอ่าน” ที่เราเคยสะสมมา มันก็จะมีแต่ให้ประโยชน์ ทั้งช่วยในเรื่องวิธีคิด และเรื่องจินตนาการ
สุดท้ายที่อยากฝาก หลังจากที่นอกเรื่องมาเยอะ (หัวเราะ) คือฝากให้ทุกๆ คนมีความสุขกับทุกสิ่งที่ตัวเองเลือกทำค่ะ แล้วท้องฟ้าจะปกป้องเรา...

ข้อคิดที่พี่ต้นน้ำฝากไว้ให้ไม่ได้เป็นแค่ตัวหนังสือที่ประดิดประดอยสวยๆเท่านั้นนะคะ แต่ว่ามันคือต้นทางของความสำเร็จ และเป็นต้นทางของสิ่งดีๆมากมายที่จะทำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่ได้ลงมือทำ เหมือนกับที่ทุกวันนี้หัวใจของเรามีความสุขที่ได้อ่านตัวหนังสือจากสองมือของพี่ต้นน้ำยังไงล่ะคะ

--------------------------------
" All Copyright©Nanthanatcha "