วันจันทร์, มิถุนายน 18, 2550

นาฎกรรมเมืองหรรษา...ว่าด้วยการเต้นรำของโชคชะตา


นาฏกรรมเมืองหรรษา-ว่าด้วยการเต้นรำของโชคชะตา

ภาพของฝูงชนที่พากันหอบหิ้วสัมภาระพะรุงพะรัง ยื้อแย่งกันจับจองรถโดยสารประเภทต่างๆเพื่อมุ่งหน้าออกจากกรุงเทพมหานคร ในช่วงที่มีวันหยุดยาวตามเทศกาลต่างๆ ทำให้ฉันรู้ว่า จริงๆแล้วประชากรที่แออัดกันอยู่ในกรุงเทพฯนั้น ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่นี่ หากแต่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศของประเทศไทย แล้วกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดอีกครั้งเพียงปีละไม่กี่วันเท่านั้น
แล้วเมืองเล็กๆที่มีพื้นที่เพียงไม่กี่ตางรางกิโลเมตรที่ชื่อกรุงเทพฯมีอะไรดีนักหนา ทุกคนถึงได้โหยหาทะยานอยากที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดไปวันๆที่นี่กันนัก
“ฉันคนหนึ่งล่ะที่รู้สึกไม่ค่อยสนุกนักกับการดำเนินชีวิตอยู่บนการยื้อแย่งแข่งขัน”
**กิจวัตรยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง... เขายังคงตื่นนอนเวลาเดิม ขับมอเตอร์ไซด์ฝ่าการจราจรอันแสนสาหัสบนถนนเส้นเดิมๆ เร่งรีบไปให้ทันเวลาเข้าเวร จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน
นี่เป็นเพียงหนึ่งฉากอันซ้ำซากของมนุษย์เงินเดือนซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า แต่ยังมีอีกหลายฉากที่เกิดขึ้นซ้ำซากในจิตใจซึ่งไม่มีใครสามารถมองเห็นมันได้ชัดเจนเท่าผู้ที่เป็นเจ้าของชะตากรรม ไม่ว่าจะเป็นการอิจฉาริษยากันในองค์กร การแข่งขันกันประจบสอพลอเพื่อตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงขึ้น การถูกกดขี่จากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าโดยไม่สามารถปริปากบ่นและเรียกร้องความยุติธรรม
...เป็นการเอาความศิวิไลซ์ของชีวิตตนเองเข้ามาให้คนอื่นย่ำยีโดยแท้
ถึงแม้ว่าฉันจะต้องพบเจอชะตากรรมที่ซ้ำซากแบบนี้ในที่ทำงานอยู่บ้าง แต่ก็นับว่าโชคดีกว่าคนอื่นๆอยู่ไม่น้อย ที่พระเจ้าส่งให้ฉันมาเกิดและเติบโตอยู่ในเขตชานเมืองของเขา ที่นี่ทำให้ฉันไม่ต้องอุดอู้อาศัยอยู่ในห้องเช่าคับแคบที่ห้ามเปิดเพลงเสียงดัง ได้กินกับข้าวฝีมือแม่ที่อร่อยและปลอดภัยกว่าอาหารสำเร็จรูปที่ขายกันอยู่เกลื่อนกลาด มีเสียงนกร้อง ไก่ขันปลุกทุกเช้าโดยที่ไม่ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก เพราะการแผดเสียงจากมอเตอร์ไซด์ของบรรดาเด็กแว้นท์* อยากอยู่เงียบๆเพื่อคิดอะไรเพลินๆเมื่อไหร่ก็แค่แวะไปที่สวนผลไม้ ไม่ต้องไปเสาะหามุมปลอดคนในร้านกาแฟของศูนย์การค้าแล้วตั้งชื่อมันว่า”มุมสงบ”ทั้งๆที่มันอีกทึกสิ้นดี ฉันโชคดีที่มีโอเอซิสท่ามกลางทะเลทรายอันแล้งไร้น้ำใจให้กับผู้อื่นเป็นของตัวเอง ทำให้บรรเทาความเหนื่อยล้าในการดำเนินชีวิตในเมืองแห่งนี้ลงไปได้มาก ซึ่งต่างจากคนอื่นๆที่เลือกทอดทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เข้ามาลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่เพราะหวังที่จะตั้งตัวได้ แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปสักกี่ปี ก็ยังต้องอาศัยซุกหัวนอนอยู่ในพื้นที่ไม่ถึงสิบตารางเมตรเหมือนเก่า ด้วยคำจำกัดความของการ”เช่า”ทำให้ต้องถูกจำกัดจำเขี่ยไปซะทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้ต้องหิ้วตัวเองออกไปตะลอนหาเสรีภาพในการกินการใช้อยู่ที่ศูนย์การค้าช่วงวันหยุด รวมกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกนับไม่ถ้วน
ไม่บ่อยนักที่คนสมาธิสั้นมากๆอย่างฉันจะอ่านหนังสือสักเล่มได้แบบรวดเดียวจบ และ”นาฏกรรมเมืองหรรษา” ก็เป็นอีกหนึ่งในจำนวนหนังสือไม่กี่เล่มที่ฉันสามารถทำได้สำเร็จ ซึ่ง ชาติวุฒิ บุณยรักษ์ คนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เล่าให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ มุมมอง รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดของคนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในเมืองเล็กๆ อันแสนแออัดไปด้วยจำนวนประชากร และอัตคัดขาดแคลนซึ่งความเห็นอกเห็นใจของเพื่อนร่วมสังคมแห่งนี้ได้อย่างชัดเจน
**เพราะโลก...ไม่เหมือนก่อน
**เคยชินอันเกิดจากการกระทำซ้ำๆจากสื่อที่ตอกย้ำข่าวสารโศกนาฏกรรมในรูปแบบต่างๆทั้งเช้าเย็น ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ผ่านจอโทรทัศน์ แทรกมากับคลื่นวิทยุ กระทั่งในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต... อีกทั้งยังมีความแปลกที่ ต่างถิ่นของซึ่งกันและกัน เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้คนแปลกหน้าที่เบียดเสียดยัดเยียดกันอยู่ในเมืองนี้ เต็มไปด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และดูดายต่อความทุกข์ทน เจ็บปวดของผู้อื่น
ยังจะมีอีกมั้ยคนที่มีน้ำใจ กดลิฟท์รอคนอื่นอย่างในหนังโฆษณาบนจอทีวี
ยังจะมีอีกมั้ยผู้ชายที่เข้มแข็ง พอที่จะเสียสละที่นั่งบนรถโดยสารให้เด็ก สตรี และคนชรา โดยไม่ต้องติด ป้ายประจานสามัญสำนึกว่า “กรุณาเอื้อเฟื้อ...
” ยังจะมีอีกมั้ยคนที่ยิ้มให้ แล้วพูดคำว่าขอบคุณ ขอโทษ และไม่เป็นไรกับเพื่อนร่วมสังคม
หรือว่า...ความเจริญทางวัตถุที่เข้ามาได้ทำลายความดีงามในจิตใจของมนุษย์ลงไปพร้อมๆกัน? และในความซ้ำซากของวงจรการดำเนินชีวิตในแต่ละวันก็ได้แฝงเร้นเรื่องผจญภัยอันน่าตื่นเต้นไว้อย่างแนบเนียน ซึ่งเป็นผลมาจากการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเองเป็นใจความสำคัญ ฉันเปิดหน้าหนังสือขึ้นมาอีกครั้ง และก้มหน้าอ่านอย่างตั้งใจในโมงยามที่รู้สึกว่าพลังชีวิตเริ่มที่จะอ่อนล้า ต้องการเยียวยาตัวเองให้พ้นจากสภาพคล้ายเครื่องจักรของเมืองหลวง แล้วหนังสือเล่มนี้ก็บอกกับฉันว่า...
“ไม่ได้มีแค่ฉันคนเดียว ที่ไม่สามารถกำหนดจังหวะให้กับการเต้นรำของโชคชะตาตนเอง”
----------
*เด็กแว้นท์ หมายถึง วัยรุ่นที่ชอบนำรถมอเตอร์ไซด์ซึ่งผ่านการดัดแปลง แต่งเครื่องยนต์ให้มีเสียงดังกว่าปรกติ ออกมาขับแข่งกันบนถนนหลวงเวลากลางคืน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
**ตัวเอียง คัดลอกจากหนังสือ
ชื่อหนังสือ...นาฏกรรมเมืองหรรษา
นักเขียน...ชาติวุฒิ บุณยรักษ์

(บทความตีพิมพ์ นิตยสาร คอ คน ฉบับเดือน พฤษภาคม 2550)
--------------------------------
" All Copyright©Nanthanatcha "